วันเพ็ญเดือนสิบสองกระทงนองเต็มตลิ่ง จากการขอขมาต่อพระแม่คงคา สู่ขยะที่ทิ้งไว้ในสายน้ำ...
ทุกปีในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประเพณีที่สำคัญของคนไทย ที่เราจะได้เห็นผู้คนมากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างพากันออกมาลอยกระทง เพื่อแสดงความเคารพและขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่สืบทอดวัฒนธรรมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่เคยย้อนกลับมาคิดกันไหม ว่าการขอขมาครั้งนี้ จริงๆ แล้วได้เป็นการทำร้ายสายน้ำ และระบบนิเวศ ด้วยขยะกระทงที่ลอยเกยแน่นริมตลิ่งในวันรุ่งขึ้นหรือเปล่า?
ประเพณี "ลอยกระทง" ขอขมา หรือทำลาย?
เนื้อหาเพลงลอยกระทง ที่เนื้อร้องบอกว่า “น้ำตะนองเต็มตลิ่ง” แต่พอมาปัจจุบัน กลายเป็น “กระทงนองเต็มตลิ่ง” ทุก ๆ ปี หลาย ๆ คนมักสนุกสนานกันกับประเพณีนี้ แต่ใครกันแน่ที่ต้องมารับมือกับขยะกระทงที่ลอยเต็มแม่น้ำ คนที่อยู่เบื้องหลัง นั่นคือทีมงานที่คอยเก็บขยะเหล่านี้ไม่ให้ไหลสู่ทะเล และหากมองในระยะยาว ขยะที่เราเห็นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำได้โดยตรง เราขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เราอาจลืมที่จะเคารพธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้าไปด้วย
“ถ้าไม่อยากให้ให้มีขยะ…งั้น! เราก็ลอยกระทงรักษ์โลกสิ! ปลาก็ได้กิน แถมย่อยสลายได้ง่ายอีก...”
"เอ่อ..แน่ใจจจริง ๆ ใช่มั้ยว่านี่เป็นกระทงรักษ์โลก ลองคิดดูนะ ว่าถ้ากระทงพวกนี้ไปรวมกันเยอะ ๆ มันก็ไม่ต่างอะไรจากขยะกระทงมากมาย ที่พูดไปข้างต้น…"
จะเป็นกระทงขนมปัง หรือ กระทงข้าวโพดหลากสี แม้จะดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะย่อยสลายได้ดีกว่าโฟม และพลาสติก แต่จริง ๆ เเล้วกระทงพวกนี้ ก็ยังมีผลกระทบต่อแม่น้ำเช่นกัน เเละเก็บยากด้วย! เพราะมันอืด! โดยเฉพาะในแง่ของการเพิ่มสารอินทรีย์และเศษอาหารที่ตกค้างในน้ำ หากมีจำนวนมากเกินไป เศษกระทงเหล่านี้จะสะสมและก่อให้เกิดการเน่าเสีย ซึ่งอาจเพิ่มระดับสารอินทรีย์ในน้ำ ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลงและส่งผลเสียต่อสัตว์น้ำ จนอาจรบกวนระบบนิเวศของแม่น้ำได้
และอีกหนึ่งความสวยงามในคืนลอยกระทง คือการปล่อยโคมลอย แต่รู้ไหมว่าบางครั้งโคมลอยก็ไปติดสายไฟ เกิดอันตราย หรือแม้กระทั่งตกลงมาเป็นขยะที่สร้างปัญหาให้ธรรมชาติ ความเสี่ยงเหล่านี้ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า ความงามในคืนเดียวนี้คุ้มค่าหรือไม่กับผลกระทบที่ตามมา?
เราจะรักษาความงามของวัฒนธรรม พร้อมทั้งคำนึงถึงความยั่งยืนได้อย่างไร?…
ในปัจจุบันมีหลายชุมชน เริ่มคิดถึงปัญหาเรื่องนี้กันบ้างแล้ว บางที่จัดกิจกรรมแบบใหม่ที่ไม่ต้องลอยกระทงลงน้ำ แต่เปลี่ยนเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ให้คนมาเรียนรู้ถึงความสำคัญของน้ำหรือวิธีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแทน มีการประดิษฐ์กระทงที่ใช้ซ้ำ, การเช่ากระทง เเล้วนำไปลอยในบ่อน้ำของวัด หรือบ่อที่จัดเตรียมไว้ เพื่อที่จะไม่ต้องนำกระทงไปลอยลงแม่น้ำ และยังมีการจัดเวิร์กช็อปที่สอนเรื่องการรักษาธรรมชาติไปด้วยในตัว หรือการลอยกระทงเเบบออนไลน์ ก็น่าสนใจไปอีกแบบ
บางคนอาจจะคิดว่า ถ้าลอยกระทงแบบใหม่ที่ไม่ต้องปล่อยลงน้ำ แล้วมันจะยังเรียกว่าลอยกระทงได้ไหม? …ถ้าเรามองลึกเข้าไปถึงความหมายของการลอยกระทงที่แท้จริง ความหมายของลอยกระทงคือการขอขมาและขอบคุณสายน้ำ ถ้าเราปรับเปลี่ยนวิธีแสดงออกเพื่อไม่ให้กระทบต่อธรรมชาติและให้คนซึมซับความสำคัญของวัฒนธรรม เเละเห็นคุณค่าของน้ำ นี่อาจจะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้เรารักษาจิตวิญญาณของประเพณีไว้ได้
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราควรที่จะเฉลิมฉลองวัฒนธรรมประเพณีอย่างสร้างสรรค์จะดีกว่า โดยที่เราไม่ต้องทิ้งภาระไว้ในสายน้ำ และให้ใครมาเก็บดีกว่านะ การลอยกระทงแบบใหม่ อาจจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงการดูแลธรรมชาติไปพร้อมกัน ถ้าเราช่วยกันไม่ลอยกระทงลงแม่น้ำ 1 คน = 1 กระทง เราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้
ลอยกระทง เเต่ไม่ใช้กระทง … จะเป็นแบบไหนกันนะ?
ถ้าอยากให้มีงานลอยกระทงอยู่ล่ะ! จะทำยังไงดี… เรามาดูการลอยกระทงแบบใหม่ ที่ไม่ทำลายธรรมชาติ กับ ไอเดียการจัดกิจกรรมวันลอยกระทง ที่ไม่มีกระทงกันดีกว่า ว่าจะมีไอเดียไหนน่าสนใจกันบ้าง เชิญชมคลิปด้านล่างนี้ได้เลย!
ติดตามข่าวสารและเรื่องราวของพวกเราได้ที่นี่