top of page

Fondazione Prada Milan : เมื่อโรงกลั่นสุรายุค 1910 กลายเป็นพื้นที่ศิลปะที่สะท้อนตัวตนของแบรนด์แฟชั่น


พิพิธภัณฑ์ Fondazione Prada

พิพิธภัณฑ์ Fondazione Prada : จุดบรรจบของแฟชั่น ศิลปะ และสถาปัตยกรรมร่วมสมัย

เดิมเราอาจรู้สึกว่า Prada คือแบรนด์แฟชั่นที่นำเสนอความหรูหรา ก่อตั้งขึ้นในปี 1913 ที่มิลานโดย Mario Prada แบรนด์เริ่มจากการเป็นร้านค้าเล็ก ๆ ขายสินค้าเครื่องหนังที่ประณีตและมีเอกลักษณ์ แต่จุดเปลี่ยนที่แท้จริงเกิดขึ้นในช่วงปี 1970 เมื่อ Miuccia Prada ทายาทรุ่นที่สามเข้ามาบริหาร แบรนด์เริ่มขยายไปสู่การออกแบบและแฟชั่นที่มุ่งเน้นความท้าทายและนวัตกรรม Prada ภายใต้การนำของเธอไม่ได้ต้องการสร้างเพียงสินค้าที่ขายดี แต่ต้องการสร้างศิลปะผ่านแฟชั่นที่สะท้อนถึงสังคมและกระตุ้นให้คนคิดถึงค่านิยมเดิมๆ ในวิถีใหม่


Prada ได้สร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไปจากแบรนด์แฟชั่นทั่วไป โดยเน้นที่การสร้างสรรค์ “ความงามที่ไม่สมบูรณ์” ซึ่งมักขัดแย้งกับความงามในแบบที่คนส่วนใหญ่ยึดถือ การออกแบบของ Prada มักจะนำเสนอความซับซ้อนและการผสมผสานระหว่างวัสดุที่หลากหลาย เช่น ไนลอนกับหนังเนื้อดี การใช้ผ้าไนลอนที่เคยถูกมองว่าเป็นวัสดุราคาถูกในช่วงปี 1980 มาทำเป็นกระเป๋าหรูเป็นสิ่งที่ท้าทายและเปลี่ยนมุมมองของผู้คนต่อสิ่งที่เรียกว่า “แฟชั่นชั้นสูง”


การมามิลานในครั้งนี้เราเลยอยากไปสัมผัสกับศิลปะในมุมมองของ Prada สักหน่อยว่า แบรนด์แฟชั่นชั้นสูงที่มีความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นอย่างไร


พิพิธภัณฑ์ Fondazione Prada

Miuccia Prada ทายาทแบรนด์หรูต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในการทำโครงการ Fondazione Prada นี้ ด้วยโจทย์สำคัญที่จะทำอย่างไรให้พื้นที่เสื่อมโทรมนี้กลายเป็นศูนย์กลางศิลปะระดับโลก ในขณะที่หลายคนมองว่าเป็นความคิดที่บ้าบิ่นมากๆ ตัวพิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เกิดจากการแปลงโฉมโรงกลั่นสุราจากยุค 1910 ซึ่งได้ OMA สตูดิโอสถาปัตยกรรมชื่อดังภายใต้การนำของ Rem Koolhaas ที่ต้องเผชิญกับปัญหาอย่างหนักทั้งในเรื่องโครงสร้างเดิมที่ทรุดโทรมอย่างมาก การใช้งบประมาณที่พุ่งสูงเกินคาด แถมด้วยแรงต้านจากชุมชนที่ไม่เห็นด้วยการออกแบบใหม่นี้ ตามสไตล์มนุษย์อิตาเลียนที่ค่อนข้างมีความอนุรักษ์นิยมสูง



การออกแบบจึงคงไว้ซึ่งลักษณะของโครงสร้างเก่าที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่เดิม แต่เสริมอาคารโครงสร้างโมเดิร์นที่เรียบง่ายและแข็งแรง โดยมีวัสดุที่ทันสมัยมาใช้ร่วมกับโครงสร้างอาคารเก่าที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ อาคารหลักภายในโครงการประกอบด้วย


The Podium - อาคารกระจกขนาดใหญ่ที่เป็นจุดต้อนรับของโครงการ และจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน

The Haunted House - อาคาร 4 ชั้นที่หุ้มด้วยแผ่นทองคำ ดูหรูหราโดดเด่นเป็นอย่างมาก

The Tower - อาคารสูงทรงแปลกตาที่มองเห็นได้จากระยะไกล



การออกแบบนี้ไม่เพียงแค่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ของสถานที่ แต่ยังเป็นภาพสะท้อนของแบรนด์ Prada ที่เคารพในรากเหง้า แต่ก็ไม่ลังเลที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ Prada มองว่าพื้นที่ศิลปะต้องเปิดกว้างและยืดหยุ่น เหมือนกับที่แบรนด์เน้นไปที่การสร้างตัวตนที่ยากจะจำกัดอยู่ในกรอบเดียว และต้องการให้พิพิธภัณฑ์นี้กลายเป็นพื้นที่ทดลองที่สื่อถึงอัตลักษณ์อันซับซ้อนของแบรนด์ออกมา




ภายใน The Tower นั้นแสดงออกถึงความสร้างสรรค์ตั้งแต่เปิดประตูเข้าไป การตกแต่งฝ้าเพดานที่เหมือนหลุดเข้าไปใน Space อนาคต มีลิฟท์กล่องไฟเรืองแสงจอดรอรับเราอยู่ที่โถงต้อนรับ ในส่วนห้องจัดแสดงก็มีการออกแบบพื้นที่ภายในได้ดีมาก เจาะช่องเปิดขนาดใหญ่รับแสงธรรมชาติเข้ามาเต็มๆในห้องนิทรรศการ และเปิดมุมมองให้เราเห็นเมืองมิลานในมุมสูง


การจัดแสดงผลงานศิลปะในแต่ละชั้นได้รับการเลือกสรรให้สะท้อนถึงตัวตนของแบรนด์และมุมมองเชิงปรัชญาของ Miuccia Prada ที่เชื่อในศิลปะว่าเป็นสื่อในการท้าทายและตั้งคำถามต่อโลก ผลงานศิลปะหลายชิ้นนั้นดูเรียบง่ายแต่แสดงออกมุมมองที่ท้าทายกรอบทางสังคม ทำให้ผู้ชมได้เกิดความรู้สึกที่แปลกใหม่และตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆรอบตัว



ผลงานชิ้นหนึ่งที่ทำให้เราตะลึงและเซอร์ไพร์สมาก ๆ คือภาพสีดำในกรอบสี่เหลี่ยมขนาดยักษ์เรียบ ๆ ที่แขวนติดผนังอยู่ชิ้นหนึ่ง ซึ่งเมื่อเห็นก็เกิดคำถามขึ้นมาในหัวว่า "อะไรวะ?" รูปสีดำเรียบ ๆ ก็เป็นงานอาร์ตก็ได้


งานศิลปะจากแมลงวัน

แต่เมื่อเข้าไปใกล้ ๆ พบว่าทั้งหมดทำมาจาก แมลงวัน!!!

ผลงานศิลปะ จาดแมลงวัน

ซึ่งด้วยขนาดและปริมาณที่เห็น มันทำให้เรารู้สึกช็อคจนพูดอะไรไม่ออก ไม่รู้จะบอกว่าอารมณ์ไหนดีจริง ๆ


อีกนิทรรศการนึงที่นิยมมาถ่ายรูปกันก็คือประติมากรรมเห็ดกลับหัวที่เดินเข้ามาแล้วรู้สึกว่าเราเป็นตัวอะไรสักอย่างอยู่ในดงดอกเห็ดยักษ์



ดีเทลในองค์ประกอบสถาปัตยกรรมภายในก็ออกแบบได้น่าสนใจ มีการใช้วัสดุดิบ ๆ ตัดกับกระจก และโลหะที่มีความเรียบและเนี๊ยบกริบ



ที่เราชอบมากคือ "ห้องน้ำ" ที่กรุผนังโดยรอบเป็นกระจกเงา ทำให้ดูกว้างมาก มีประตูและไฟสถานะว่าห้องไหนว่างอยู่บ้าง ซึ่งก็ดูเข้าใจง่ายดี


แต่เมื่อเปิดเข้าไปกลับสร้างความงุนงงมากเพราะมีแต่ผนังตะแกรงสีเขียวและอ่างล้างมือติดอยู่บนกระจกเงาบานใหญ่เต็มผนัง ทำให้มองแล้วดูลึกลวงตา และไม่เห็นมีโถส้วม! หรือว่าเราเข้ามาในห้องล้างมือนะ เดินเข้าออกอยู่หลายห้องก็ไม่มี จนสังเกตว่าแอบมีมือจับเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ และเปิดเข้าไปเป็นโถส้วมอยู่ภายในห้องสีดำมืด ๆ

โห... ออกแบบได้บ้ามากกกก



จบการดูนิทรรศการศิลปะออกมาก็แวะร้านขายของที่ระลึกในอาคารโบราณ ที่มีโมเดลโครงการตั้งให้ชมได้รอบด้าน



และจุดพักที่ต้องแวะ Bar Luce - คาเฟ่ที่ออกแบบโดยผู้กำกับ Wes Anderson ในบรรยากาศที่สะท้อนถึงคาเฟ่สไตล์มิลานในยุค 1950s และ 1960s โดยใช้โทนสีพาสเทล ที่มีจุดเด่นคือกราฟฟิกเพดานโค้งที่จำลองจาก Galleria Vittorio Emanuele II ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองมิลาน


Wes Anderson ตั้งใจออกแบบ Bar Luce ให้เป็นสถานที่ที่เขาเองอยากใช้เวลาช่วงบ่ายที่นั่น โดยเน้นการสร้างบรรยากาศที่เหมาะสำหรับการนั่งพูดคุย อ่านหนังสือ หรือเขียนบทภาพยนตร์ ภายในคาเฟ่มีเครื่องพินบอลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ของเขา เช่น "The Life Aquatic with Steve Zissou" และ "Castello Cavalcanti"

Atlas Obscura ที่แฟนภาพยนตร์ของ Wes Anderson สามารถมาสัมผัสประสบการณ์กันได้


ในทุกซอกมุมของพิพิธภัณฑ์ Prada Museum มีการสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของแบรนด์ ทั้งในเชิงความคิดสร้างสรรค์และปรัชญา ความขัดแย้งระหว่างอดีตกับปัจจุบัน การผสมผสานระหว่างความสวยงามและความท้าทาย โดยที่เราไม่ได้เห็นโลโก้ของ Prada เลย เป็นการใช้สถาปัตยกรรมและการจัดแสดงศิลปะเป็นสื่อในการบอกเล่าแบรนด์คาแรคเตอร์แบบที่ให้ผู้ชมรู้สึกเอง และก็ประสบความสำเร็จ


เพราะหลังจากออกมาจากพิพิธภัณฑ์ ทำให้เราอยากจะเดินเข้าไปใน Shop และเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จาก Prada สักอย่างทันที

 

Fondazione Prada Milan

สถานที่ตั้ง


การเดินทาง

รถไฟใต้ดิน: สาย M3 (สีเหลือง) ลงสถานี Lodi T.I.B.B

รถราง: สาย 24

รถเมล์: สาย 65


เวลาเปิดทำการ

เปิดวันพุธถึงวันจันทร์ เวลา 10:00-19:00 น. (ปิดทุกวันอังคาร)

Bar Luce เปิด 8:30-20:00 น.


ค่าเข้าชม

บัตรทั่วไป 15 ยูโร ส่วนพื้นที่ภายนอก ห้องสมุด และ Bar Luce เข้าชมได้ฟรี


ข้อมูลเพิ่มเติม

อัปเดตข้อมูลจากเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ที่ https://www.fondazioneprada.org/?lang=en เกี่ยวกับนิทรรศการ กิจกรรมพิเศษต่างๆกันก่อนไปนะ


ติดตามข่าวสารและเรื่องราวของพวกเราได้ที่นี่


แท็ก:

ดู 29 ครั้ง
bottom of page